6 นามสกุลไฟล์ภาพ ที่คนรักการถ่ายรูปควรรู้



          

  เชื่อว่ามีช่างภาพมือใหม่หรือคนที่เพิ่งหัดแต่งภาพไม่มากก็น้อย ที่ยังสับสนกับการเซฟภาพเป็นนามสกุลต่าง ๆ เพราะไม่ทราบแน่ชัดถึงความแตกต่างของไฟล์เหล่านั้น วันนี้เราจึงรวบรวมนามสกุลไฟล์สำคัญ ๆ มาแนะนำให้ทราบกันครับ


1.JPEG





          นับว่าไฟล์ภาพนามสกุล JPEG หรือที่หลายคนคุ้นกับคำว่า JPG เป็นไฟล์แบบมาตรฐานที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะไม่เพียงแค่ได้ภาพที่คมชัดเท่านั้น แต่ยังได้ไฟล์ไซส์เล็ก ที่ช่วยประหยัดพื้นที่ในเมมโมรี่กล้องได้เป็นอย่างดี แถมเหมาะกับคนที่ชอบอัพโหลดภาพบนโซเชียลและแชร์ให้เพื่อน ๆ ดู รวมถึงการพรินท์ภาพด้วย ถึงแม้ว่าจะเป็นไฟล์ที่รองรับการใช้งานร่วมกับโปรแกรมหรืออุปกรณ์เกี่ยวกับภาพแทบทุกชนิด แต่ก็ยังมีข้อเสียด้วยคือไม่รองรับภาพโปร่งใสนั่นเอง





2.RAW




          เชื่อว่ามีคนที่รักการถ่ายรูปไม่น้อยที่เลือกเก็บภาพด้วยไฟล์นามสกุล RAW ซึ่งเป็นไฟล์ที่มาจากเซ็นเซอร์ของกล้องถ่ายรูปโดยตรง ไฟล์ภาพที่ได้จะมีขนาดใหญ่มาก เพราะเป็นไฟล์คุณภาพสูงที่ไม่ถูกบีบอัดเหมือน JPEG เหมาะสำหรับการคนที่ต้องการแต่งภาพหรือใส่เอฟเฟกต์ต่าง ๆ แต่ข้อเสียของไฟล์ RAW คือนอกจากจะใช้พื้นที่ในหน่วยความจำเยอะมากแล้ว ยังเปิดผ่านโปรแกรมแต่งรูปที่รองรับด้วย




3.PSD



     PSD คือไฟล์ภาพจากโปรแกรม Photoshop โดยเฉพาะ สามารถใช้งานร่วมกับโปรแกรมและซอฟต์แวร์อื่น ๆ ของ Adobe เช่น Illustrator, InDesign Premiere และ After Effects ซึ่งไฟล์ประเภทนี้เหมาะกับการใช้ทำงานเป็นอย่างยิ่ง เพราะเก็บรายละเอียดต่าง ๆ ไว้ครบถ้วน ทั้งการบันทึกประวัติการทำงานและเก็บภาพแบบแยกเลเยอร์ ช่วยให้ง่ายต่อการตกแต่งเพิ่มเติม ส่วนข้อเสียของไฟล์ PSD คือต้องเปิดด้วยโปรแกรมเฉพาะเท่านั้น




4.GIF



        หลายคนต้องคุ้นเคยกับไฟล์ภาพนามสกุล GIF มาบ้างล่ะ เพราะขณะนี้กำลังฮิตมากในโซเชียลโดยเฉพาะเฟซบุ๊ก ซึ่งไฟล์ชนิดนี้มีขนาดเล็กแต่ให้ภาพเคลื่อนไหวแบบแอนิเมชั่น สามารถนำไปใช้ในเว็บไซต์ต่าง ๆ เพื่อการโฆษณาได้ดี แต่มีข้อจำกัดอยู่ที่ภาพที่ได้จะไม่คมชัดเท่าไรนัก  




5.PNG




           PNG เป็นไฟล์จำพวก Lossless กล่าวคือภาพที่ได้จะยังคงความคมชัดและไม่สูญเสียคุณภาพไฟล์ ซึ่งได้รับการพัฒนาต่อยอดมาจาก GIF ที่รองรับภาพโปร่งใสได้เหมือนกัน แต่ไม่สามารถทำภาพขยับได้ ซึ่งไฟล์ PNG จะมีขนาดใหญ่พอสมควร เพราะให้ความละเอียดสูง ทำให้เหมาะกับการนำไปทำเป็นโลโก้แบรนด์หรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ เพื่อใช้งานบนเว็บไซต์ แต่การใช้ไฟล์ประเภทนี้มากเกินไป อาจส่งผลให้เว็บไซต์นั้น ๆ อืดหรือค้างได้ เนื่องจากต้องประมวลไฟล์ภาพขนาดใหญ่ที่มีจำนวนมากนั่นเอง




6.TIFF



      ไฟล์นามสกุล TIFF เป็นไฟล์แบบ Lossless ที่มีขนาดใหญ่มาก ๆ เพราะอัดแน่นไปด้วยคุณภาพของรูปถ่าย ที่ให้ความคมชัดและสวยงามอย่างเต็มที่ สามารถใช้งานกับโปรแกรมแต่งรูปได้มากมาย รองรับระบบสีได้หลายแบบทั้ง CMYK, RGB, Lab, Indexed Color และ Grayscale เหมาะสำหรับนำไปทำเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ  

    

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การแต่งภาพเบื้องต้นด้วยโปรแกรม Adobe Light room

การถ่ายภาพเบื้องต้น