การถ่ายภาพเบื้องต้น






Basic Photography – รวมพื้นฐานการถ่ายภาพที่ควรรู้

   รวมพื้นฐานการถ่ายภาพครบเครื่องในอัลบั้มเดียว เริ่มต้นได้ง่าย อ่านคนเดียวก็ได้ พยายามทำให้เข้าใจง่ายที่สุดแล้ว เริ่มตั้งแต่เรื่องรูรับแสง, ความเร็วชัตเตอร์, ISO, ทางยาวโฟกัส , คอมโพซิชั่น และโหมดการถ่ายภาพ คือพยายามอธิบายให้ง่ายที่สุด แล้วก็ให้ทุกคนที่อยากถ่ายภาพเริ่มต้นได้ง่ายที่สุดครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่อยากเริ่มต้นถ่ายภาพนะครับ



1.Aperture – รูรับแสง



    เรื่องของรูรับแสง เลนส์ที่รูรับแสงกว้าง แสงจะเข้าที่กล้องมาก ถ่ายภาพกลางคืนได้ดีครับ และที่สำคัญคือทำให้เกิดเอฟเฟคที่ชอบมากคือหน้าชัดหลังเบลอ


ส่วนรูรับแสงแคบ คือตรงกันข้าม ภาพจะเข้าที่กล้องน้อยลง แต่จะได้เอฟเฟคที่เกิดการชัดลึก คือภาพชัดทั้งภาพเลย เหมาะกับการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ครับ



Shutter Speed – ความเร็วชัตเตอร์



    ว่ากันด้วยเรื่องของความเร็วชัตเตอร์ ความเร็วชัตเตอร์หลักเลยคือเราใช้จับภาพที่เคลื่อนไหวให้นิ่งครับ แต่ก็ผลกระทบเหมือนกันคือเมื่อความเร็วชัตเตอร์เราเพิ่มขึ้น แสงจะเข้ากล้องน้อยลง เพราะงั้นการใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงควรใช้ในสถานที่ ที่อยู่กลางแจ้ง มีแสงมากครับ เพื่อจะได้ไม่ต้องเพิ่ม ISO

แต่ Speed Shutter ที่ช้าลงจะทำให้เราเก็บแสงได้มากขึ้น และก็เป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่เราใช้ในการลากแสงไฟนั่นเองดังนั้นการจะใช้ชัตเตอร์เท่าไหร่นั้นไม่มีกฎตายตัวนะครับ อยู่กับว่าเราอยากได้ภาพแบบไหน และเรากำลังเจอสถานการณ์ไหนนั่นเองครับ

Shutter Speed - ความเร็วชัตเตอร์



ISO – ค่าความไวแสง




    ISO เป็นความไวแสงที่กล้องมีครับ ถ้ายิ่ง ISO มาก กล้องก็จะไวแสงมาก ข้อดีคือ ISO สูงจะทำให้เราถ่ายภาพในที่มืดได้ แต่การที่ ISO สูงมากก็จะทำให้เกิดสัญญาณรบกวนหรือว่า Noise นั่นเองครับ

ดังนั้นการเลือกใช้ ISO ก็ควรดูด้วยว่าเราต้องการอะไรในภาพตอนนั้น ถ้าเราถ่าย Landscape กลางแจ้ง มีขาตั้ง เราก็ไม่ต้องดัน ISO ครับ ใช้ต่ำที่สุดที่กล้องให้ก็ได้


แต่ถ้าหากเราถ่ายภาพในอาคาร เราไม่สามารถเพิ่มรูรับแสง หรือลดสปีดจนถือกล้องได้แล้ว เราก็ควรเลือกที่จะดัน ISO เพื่อให้กล้องรับแสงได้ไวขึ้นครับ มี Noise ดีกว่าไม่ได้ภาพเลยนะครับ

พื้นฐานการถ่ายภาพ ค่า ISO หรือ ความไวแสง




White Balance – ค่าสมดุลแสงสีขาว


    White Balance จะคอยทำหน้าที่ควบคุมให้สีของภาพออกมาตรงอย่างที่ตาเห็นโดยดูจากสมดุลของแสงสีขาวนั่นเองครับ

ประโยชน์ของ White Balance คืออะไร
อย่างที่บอกว่าเมื่อกล้องรับภาพ รับแสงเข้ามา เมื่อสีในภาพเกิดอาการผิดเพี้ยน ติดสีส้มเยอะเกินไป หรือสีฟ้าเยอะเกินไป กล้องก็จะคอยปรับค่า White Balance ให้สมดุลกับภาพที่เราเห็น ทำให้ภาพของเราออกมาสีตรงนั่นเองครับ สังเกตว่าอาการสีเพี้ยน ๆ นี้มักจะเกิดเมื่อเราถ่ายภาพในอาคาร ในห้อง ที่แสงจะไม่มากนัก ซึ่งอาการนี้จะเกิดกับกล้องมือถือหรือกล้องมิลเรอร์เลส (mirrorless) ก็ได้ แล้วในเมื่อกล้องปรับให้เรา ทำไมเราต้องมาเรียนเรื่อง White Balance กันล่ะ?


ค่าของ White Balance มีอะไรบ้าง และ หมายถึงอะไร?
ค่าของ White Balance โดยหลักแล้วจะมีอยู่ 8 อย่างด้วยกันครับ ไม่ต้องจำทั้งหมดนะครับ ให้เข้าใจว่ากล้องมีโหมดอะไรบ้าง แล้วถ้าจะเลือกปรับโหมดเองควรไปที่ไหน
Auto – กล้องคิดให้จะเป็นการปรับค่าแสงสมดุลสีขาวแบบอัตโนมัติ
Tungsten – แก้สีส้มในภาพโดยใส่สีน้ำเงิน สีฟ้าเข้าไป
Fluorescent – แก้สีน้ำเงิน สีเขียวในภาพ โดยใส่สีม่วงลงไป
Daylight – แก้สีฟ้าอ่อน ซึ่งจะเป็นสีที่เกิดจากดวงอาทิตย์ในตอนกลางวัน โดยใส่สีส้มเข้าไป
Flash – แก้สีฟ้าอ่อน คล้ายกับ Daylight โดยใส่สีส้ม สีเหลืองเข้าไป
Cloudy – แก้สีฟ้า ที่เกิดจากการมีเมฆ จะมีสีฟ้ามากกว่าปกติ กล้องก็ใส่สีส้มเข้าไป
Shade – แก้สีฟ้า ที่เกิดจากการถ่ายภาพในร่ม ซึ่งอาจจะมีสีฟ้ามากกว่าปกติ กล้องจะใส่สี ส้มเข้าไป
Custom – เลือกปรับเติมสีของ White Balance เอง ในกรณีที่เราเลือกปรับค่า White Balance แล้วแต่สีก็ยังออกมาไม่ตรง


พื้นฐานการถ่ายภาพ - White Balance คืออะไร



Composition & Rule of Third – การจัดองค์ประกอบภาพ และ กฎสามส่วน





    เราจะเห็นได้ว่าในช่องมองภาพของกล้องเราที่ผู้ผลิตทำมาจะมีจุดตัด 9 ช่อง ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 ส่วนหลักในแนวตั้ง และ 3 ส่วน หลักในแนวนอน โดยจุดตัดนี้เราจะใช้วิธีการจัดองค์ประกอบร่วมกันสองแบบครับ

วิธีแรกที่จะใช้ก่อนเลยคือ กฎสามส่วน วิธีนี้มักจะใช้แบ่งสัดส่วนของพื้นดินและท้องฟ้า ถ้าต้องการนำเสนอท้องฟ้าให้เด่น ก็เป็นท้องฟ้า 2 ส่วน พื้นดิน 1 ส่วน, ถ้าเน้นพื้นดินก็ พื้นดิน 2 ส่วน ท้องฟ้า 1 ส่วน


จากนั้นเราจะสร้างจุดสนใจให้กับแบบ ถ้าเราสังเกตเวลาถ่ายภาพเราจะไม่วางจุดสนใจไว้ตรงกลางภาพเท่าไหร่ วิธีการนั้นคือวางแบบหลักให้อยู่ตรงจุดตัด 9 ช่อง ดูต้นไม้นี้นะครับ ถูกวางไว้ในจุดตัดอย่างชัดเจน ทำให้แบบดูน่าสนใจเลย

กฎสามส่วน - Rule of Third


Focal Length – ทางยาวโฟกัส



ทางยาวโฟกัส ถ้าจะให้ละเอียดวันนึงคงไม่จบแน่ ทางยาวโฟกัสที่อยากให้มือใหม่เข้าใจง่าย ๆ คือก็จะมี 3 ระยะด้วยกันคือ

1. มุมกว้าง ระยะประมาณ 50mm ลงมาครับ ส่วนใหญ่ปัจจุบันเลนส์กว้างที่ใช้มาก ๆ คือ Ultra Wide ระยะประมาณ 12mm – 16mm เพราะว่าถ่ายภาพได้อลังการงานสร้างมาก

2. ระยะ Normal ระยะ 50mm ครับ เป็นช่วงระยะประมาณสายตา ถ่ายง่าย และเลนส์ 50mm เป็นเลนส์ครูที่มือใหม่ทุกคนควรใช้ครับ เพราะเราจะรู้สไตล์ตัวเองได้จากเลนส์ 50mm นั่นเองว่าควรใช้เลนส์แคบหรือกว้างกันแน่

3. ระยะ Telephoto คือเลนส์ที่มีช่วงซูมมาก ๆ เหมาะกับการถ่ายดึงภาพไกล ๆ อย่างทิวทัศน์เน้นมุมแคบ ดึงภาพจากภูเขามาได้เลย หรือว่าถ่ายภาพบุคคลที่เน้นเจาะครึ่งตัวก็จะใช้ Tele ประมาณ 85mm ครับ

ระยะเลนส์ที่เหมาะสมนั้นอยู่ที่เราจะเลือกใช้ แต่สิ่งสำคัญคือเมื่อช่วงทางยาโฟกัสเลนส์มากขึ้น มุมภาพที่รับได้ก็จะแคบลงครับ ควรเข้าใจถึงข้อจำกัดตรงนี้ด้วยนะ
พื้นฐานการถ่ายภาพ เรื่องทางยาวโฟกัส

Mode Auto – โหมดถ่ายภาพอัตโนมัติ



Auto Modes, โหมดอัตโนมัติ ,โหมด Auto (เหมาะสำหรับมือใหม่ที่สุด)
โหมดนี้แทบจะไม่ต้องอธิบายก็เข้าใจกันได้ โหมด Auto เป็นโหมดกล้องที่จะทำให้ทุกคนในโลกใบนี้สามารถถ่ายภาพได้เลย เพราะการคำนวณทุกอย่างกล้องคิดให้ ซึ่งหลายคนมักจะคิดว่าโหมดนี้ถ่ายภาพได้ออกมางั้น ๆ แต่แท้จริงแล้วปัจจุบันเทคโนโลยีถูกพัฒนามาไกลมาก และเก็บปัญหารายละเอียดมาพัฒนาเพื่อให้ Auto Mode นั้นมีประสิทธิภาพที่สุด ดังนั้นโหมด Auto ไม่ได้ด้อยอย่างที่เราคิด ยิ่งทุกวันนี้เราบอกว่ากล้องโทรศัพท์ดีมากก็เปรียบได้ว่ากล้องดิจิตอลในโหมดกล้องออโตยุคนี้ก็มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าที่เราคิดอีก

สถานะการณ์ที่เหมาะสมจะใช้โหมด Auto
เรียกว่าได้หมด เพียงแต่ว่าเราจะได้ภาพแบบมาตรฐานของตัวกล้องที่คิดให้ เหมาะสำหรับมือใหม่ที่ยังตั้งค่าโหมดอื่นไม่เก่ง หรือยังไม่รู้จักวิธีคิดของกล้องในโหมดอื่นเลย โหมดนี้จะทำให้คนเล่นระดับเริ่มต้นจริง ๆ อุ่นใจว่ายังมีโหมดที่ช่วยให้เขาถ่ายภาพได้ดี แม้จะยังไม่ดีที่สุดก็ตาม
พื้นฐานการถ่ายภาพ โหมดอัตโนมัติ



Mode Program (P) – โหมดโปรแกรม




Mode P, โหมดโปรแกรม
โหมดกล้อง P หรือโหมดถ่ายภาพ Program เป็นอีกโหมดที่มีการทำงานคล้ายกับ Auto มาก กล้องจะคิดทุกอย่างให้แต่จะอนุญาตให้เราตั้งค่าบางอย่างได้ตามใจ เช่น ISO (ค่าความไวแสง), White Balance (แสงสุมดุลสีขาว), ค่าชดเชยแสง หรือแม้แต่โปรไฟล์สีของการถ่ายภาพ (Picture Style)

สถานะการณ์ที่เหมาะจะใช้โหมด Program
เหมือนกับโหมด Auto ทุกอย่าง เพียงแต่ค่าที่เราปรับแต่งเพิ่มจะส่งผลต่อภาพที่ออกมาด้วย เป็นโหมดที่ควรฝึกใช้เพื่อเรียนรู้การทำงานของกล้องก่อนจะเริ่มใช้โหมดที่เริ่มให้เราปรับได้ยืดหยุ่นมากกว่านี้ ถ้าเรารู้จักกล้องของเรามากขึ้น เราก็สามารถคุมภาพที่ออกมาได้มากขึ้นไปด้วยครับ
Mode Program (P) - โหมดโปรแกรม



Portrait Mode – โหมดการถ่ายภาพบุคคล



หมด Portrait, โหมดถ่ายภาพบุคคล (สำหรับมือใหม่สุด ที่อยากให้กล้องปรับการตั้งค่าสำหรับภาพบุคคล)
เมื่อเปลี่ยนเป็นโหมด Portrait หรือโหมดถ่ายภาพบุคคล กล้องจะเลือกรูรับแสงขนาดกว้างสุดไว้ก่อนเสมอ (F น้อย รูรับแสงกว้าง) เพื่อทำให้พื้นหลังมีการละลายมากที่สุด และถ้าเป็นกล้องที่ถูกออกแบบมาให้มีฟีเจอร์พิเศษที่จะมาเสริมความสามารถของโหมด Portrait กล้องมักจะนำมาใช้ด้วย เช่น หน้าเนียน หรือว่าผิวสว่างขึ้น ซึ่งความสามารถนี้ก็จะต่างกันไปตามรุ่นกล้องครับ

สถานการณ์ที่เหมาะสมจะใช้โหมด Portrait
เหมาะกับตอนที่ต้องการถ่ายภาพแฟน ภาพบุคคลเป็นหลักตามชื่อโหมดเลย โดยที่กล้องจะเลือกความเหมาะสมทุกอย่างให้ตามที่กล้องคิดไว้ให้ เป็นโหมดที่สะดวกกับมือใหม่และใช้งานง่ายมากครับ
*เพิ่มเติมสำหรับมือใหม่ที่อาจจะสงสัยว่าแล้วโหมดอื่นสำหรับคนที่ถ่ายภาพเก่ง ๆ แล้วทำไมไม่ใช้โหมดนี้กัน ก็มีตัวอย่างหลายแบบครับ เช่น ช่างภาพต้องการคุมความชัดลึกของตัวแบบ อาจจะไม่ได้ใช้ค่ารูรับแสงกว้างสุด, หรือว่าเขาไม่ต้องอยากจะถ่ายเอาหน้าเนียน, หรือต้องการชดเชยค่ารายละเอียดต่าง ๆ เอง ถ่ายย้อนแสงสวย ๆ เพราะเขาสามารถคุมภาพถ่ายย้อนแสงได้ดีแล้ว ช่างภาพจะเลือกโหมดกล้องตามที่ตัวเองต้องการจะใช้ให้เหมาะสมครับ



Portrait Mode - โหมดการถ่ายภาพบุคคล



Landscape Mode – โหมดถ่ายภาพทิวทัศน์

โหมด Landscape, โหมดทิวทัศน์, โหมดถ่ายภาพวิว (สำหรับมือใหม่สุดที่อยากจะถ่ายภาพวิว)
โหมดกล้องสำหรับมือใหม่ตัวนี้ จะบอกว่าการคำนวณจะตรงกันข้ามจากโหมด Portrait เลย เพราะเขาจะกำหนดให้กล้องถ่ายภาพแบบชัดทั้งภาพ รูรับแสงที่ถูกตั้งค่าจะเล็ก เพราะการถ่ายภาพทิวทัศน์จะเน้นการชัดทั้งภาพเป็นหลัก บางครั้งกล้องในโหมดนี้จะมีความเร็วของชัตเตอร์ที่ลดลงเพื่อให้ใช้รูรับแสงที่แคบ, ISO ต่ำที่สุด
ดังนั้นมือใหม่ที่ยังตั้งกล้องไม่เก่ง และอยากถ่ายภาพวิว ควรมีขาตั้งติดไปด้วยครับ เพราะเมื่อแสงเริ่มน้อยแล้วตั้งแต่ช่วงห้าโมงเย็น หรือสถานที่ ที่มีแสงสลัว แสงน้อยลง กล้องจะเลือกปรับ Shutter Speed ลงมา อาจจะถือถ่ายตามปกติยากหน่อยครับ ควรมีขาตั้งเสมอ แล้วก็ช่างภาพ Landscape ทุกคนก็ต้องมีขาตั้งเป็นเรื่องปกติ (อธิบายไว้เผื่อบางคนคิดว่าโหมดนี้ทำไมวุ่นวาย ต้องมีขาตั้งด้วยเหรอ อะไรแบบนั้น)
สถานการณ์ที่เหมาะจะใช้โหมด Landscape
เมื่อไหร่ที่เราอยากจะถ่ายภาพวิว โหมดนี้จะตอบโจทย์มือใหม่ได้ดีที่สุดครับ อย่างที่ผมบอก ให้จำไว้เลยว่าถ้าแสงน้อย โอกาสที่ภาพเบลอจะเยอะขึ้น เพราะกล้องจะลดสปีดลงมา ควรมีขาตั้งกล้องครับ


โหมดถ่ายภาพวิว - Landscape Mode


Sport Mode – โหมดถ่ายภาพกีฬา 

โหมด Sport, Sport Mode, โหมดถ่ายภาพกีฬา (เหมาะสำหรับมือใหม่สุด ที่อยากจะจับภาพที่เคลื่อนไหวด้วยความเร็วสูงให้หยุดนิ่ง เช่น เด็กวิ่ง คนวิ่ง รถวิ่ง คนกระโดด นกบิน อะไรก็ตามที่เคลื่อนที่เร็ว)
โหมดนี้กล้องจะให้ความสำคัญ Shutter Speed เป็นหลัก เพื่อให้ได้ภาพที่หยุดนิ่ง และการโฟกัสก็จะถูกเซ็ตให้สามารถสนับสนุนการจับภาพที่รวดเร็วด้วย เป็นโหมดที่มือใหม่ที่อยากถ่ายภาพลูก หรือเด็ก ๆ วิ่งเล่นกันครับ ข้อจำกัดที่ควรรู้ไว้คือ เมื่อความเร็วชัตเตอร์สูงขึ้น แสงจะเข้าที่กล้องน้อยลง กล้องมักจะตั้งค่ารูรับแสงให้กว้าง แต่เมื่อแสงยังเข้าไม่มากพอ กล้องก็จะเริ่มขยับค่า ISO (ความไวแสง) ให้มากขึ้น เพื่อให้ปริมาณแสงเพียงพอ ข้อเสียที่ตามมาคือถ้าถ่ายในอาคาร ในห้อง แล้วใช้โหมดนี้ โอกาสที่ Noise ในภาพจะมีค่อนข้างมาก อาจจะต้องเข้าใจข้อจำกัดนิดนึงครับ
สถานการณ์ที่เหมาะจะใช้โหมด Sport
เมื่อต้องการถ่ายภาพเด็กวิ่ง ถ่ายภาพรถวิ่งเร็ว ๆ หรือภาพกีฬาครับ เป็นโหมดกล้องที่เหมาะสำหรับมือใหม่อีกโหมดหนึ่ง ใครบอกว่าถ่ายรูปเด็กแล้วภาพเบลอ แนะนำหมุนไปโหมดนี้แล้วกดได้เลยครับฃ
โหมดถ่ายภาพกีฬา - Sport Mode

Macro Mode – โหมดมาโคร, โหมดถ่ายภาพระยะใกล้

โหมด Macro, Macro Mode, โหมดมาโคร (สำหรับมือใหม่ที่อยากถ่ายภาพ Macro)
แม้ว่าน้อยคนจะถ่ายภาพมาโคร แต่ก็มีแน่นอน ถ้าผมเป็นมือใหม่แล้วต้องการถ่ายภาพเห็ดขนาดเล็ก หรือภาพสิ่งของเล็ก ๆ ก็จะเลือกโหมดนี้แน่นอน มาโครโหมดถ้าอยู่ในกล้อง Compact หรือกล้องขนาดเล็ก ใช้ง่าย ๆ จะยิ่งทรงพลังมาก เพราะเขาจะปรับตั้งค่าทุกอย่างให้ถ่ายได้ “ใกล้” และถ่ายได้ “ชัด” นั่นเองครับ
สถานการณ์ที่เหมาะจะใช้โหมด Macro
เมื่อต้องการถ่ายภาพวัตถุสิ่งของขนาดเล็ก เพื่อเน้นรายละเอียดของวัตถุเล็กน้อยออกมา สามารถใช้โหมดนี้ได้เลยครับ หรือถ้าจะลองประยุกต์หน่อยก็เอาโหมด Macro นี้มาลองถ่ายขนตา ถ่ายภาพโคลสอัพต่าง ๆ แต่ต้องระมัดระวังเรื่องรายละเอียดที่ไม่ต้องการจะโผล่ออกมา เช่น สิว ขน รายละเอียดเล็ก ๆ ในส่วนพื้นผิวที่เราไม่ต้องการ










Macro Mode - โหมดมาโคร, โหมดถ่ายภาพระยะใกล้


Night Portrait, Night – โหมดถ่ายภาพกลางคืน

โหมด Night, โหมดถ่ายภาพกลางคืน, Night Mode กล้องบางรุ่นมี Night Portrait ด้วย (สำหรับมือใหม่อยากถ่ายภาพกลางคืน)
โหมดนี้เป็นโหมดที่ทำให้ชัตเตอร์ช้าลงเพื่อเก็บแสงในที่กลางคืนให้มากขึ้น เวลาที่เก็บภาพมาแบคกราวน์จะมีรายละเอียดเพิ่มขึ้น จะไม่เป็นสีดำจม ๆ เวลาเปิดแฟลชก็จะทำให้กล้องไม่ต้องยิงแฟลชออกมาแรงมากเกินไปครับ เหมาะสำหรับมือใหม่ที่อยากจะถ่ายภาพกลางคืน กล้องบางตัวมีโหมด Night Portrait ซึ่งกล้องก็จะไม่ลด Speed Shutter ให้ต่ำเกินไป เน้นเปิดรูรับแสงกว้าง ประมาณนี้ครับ แต่ถ้าหากว่าต้องเปิด Night Mode แล้วถ่ายภาพสถานที่ หรืออะไรที่นิ่ง ๆ ใช้ขาตั้งแล้วปิดแฟลชก็ได้ครับ
สถานการณ์ที่เหมาะจะใช้โหมดกลางคืน
สภาพในที่แสงน้อยมาก ๆ หรือถ่ายตอนกลางคืนเลย เป็นโหมดสำหรับมือใหม่
Night Portrait - โหมดถ่ายภาพกลางคืน

โหมด A – Mode A


โหมด A, Mode A, Mode AV , Aperture Priority (สำหรับคนที่ชำนาญแล้ว)
โหมดนี้สำหรับคนที่ต้องการค่ารูรับแสงที่คงที่ (F) เมื่อเราตั้งค่ารูรับแสงไว้แล้ว ค่าอื่น ๆ กล้องจะเซ็ตให้เราเองครับ โดยที่เราอาจจะใช้การเซ็ต Auto อื่น ๆ ร่วมได้ เช่น Auto ISO Sensitivity เป็นต้นครับ ส่วนใหญ่คนที่ถ่ายภาพ Portrait จะเลือกแบบนี้ครับ เน้นการคุมความชัดตามที่ต้องการ ส่วนที่เหลือให้กล้องจัดการ
สถานการณ์ที่เหมาะจะใช้โหมด A
การถ่ายภาพ Portrait ครับ ส่วนใหญ่เน้นการทำให้หน้าชัดหลังเบลอ เราก็จะเปิด F1.4, F1.8 ค้างไว้ ส่วนที่เหลือให้กล้องเลือกให้เรา ปกติผมก็จะทำแบบนี้ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของปริมาณแสง กล้องก็จะปรับค่า Speed Shutter ให้เอง สบายดีนะ
โหมด A - Mode Aperture Priority

โหมด S – Shutter Priority

โหมด S, TV, Shutter Priority (สำหรับคนที่ชำนาญแล้ว)
โหมดนี้กล้องจะให้ความสำคัญกับ Shutter Speed เป็นหลัก โดยเราสามารถกำหนดค่า Shutter Speed ที่ต้องการไว้ ส่วนที่เหลือกล้องจะจัดการให้กับเราเองครับ เราอาจจะใช้การเซ็ต Auto อื่น ๆ ร่วมได้ เหมือนข้อก่อนหน้านี้ เช่น Auto ISO Sensitivity เป็นต้นครับ ส่วนใหญ่คนที่ถ่ายภาพ Portrait จะเลือกแบบนี้ครับ เน้นการคุมความชัดตามที่ต้องการ ส่วนที่เหลือให้กล้องจัดการ
สถานการณ์ที่เหมาะจะใช้โหมด S
การถ่ายภาพ Sport ต่าง ๆ เราก็จะเซ็ตค่า Speed Shutter ที่สูงค้างไว้เลวย หรือการถ่ายภาพที่ต้องการค่า Speed Shutter ต่ำคงที่เพื่อใช้ลากเส้นไฟถนน เราก็สามารถเลือกตรงนี้ค้างไว้ได้เช่นเดียวกัน
โหมด Shutter Priority

โหมด M, Mode M, Manual (สำหรับคนที่ชำนาญแล้ว)

โหมด M สำหรับคนที่ชำนาญแล้ว และก็รู้ว่าการควบคุมแต่และแบบในสไตล์ของตนเอง แบบไหนที่เข้ากับสิ่งที่ต้องการมากที่สุด เราสามารถปรับตั้งค่าทุกอย่างได้อิสระ ทั้งความเร็วชัตเตอร์, ค่าความไวแสง, รูรับแสง และอื่น ๆ ที่ต้องการได้อย่างอิสระ บางครั้งอาจจะเลือกการตั้งค่า Auto ในบางส่วนได้เช่น Auto ISO แบบที่ลิมิต ISO สูงสุดที่รับไว้ได้
สถานการณ์ที่เหมาะจะใช้โหมด M
ได้หมด ถ้าเรารู้ว่าการตั้งค่าของกล้องให้เข้ากับสถานการณ์นั้น มักจะเป็นการถ่ายภาพที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงค่าบ่อยนัก เช่น ถ่ายภาพสินค้า หรือแฟชั่นในงานสตูดิโอ หรือจะเอามาใช้ในการถ่ายภาพปกติก็ได้ถ้าเราถนัดการเซ็ตค่าแบบนี้ครับ
Mode M


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

6 นามสกุลไฟล์ภาพ ที่คนรักการถ่ายรูปควรรู้

การแต่งภาพเบื้องต้นด้วยโปรแกรม Adobe Light room